Ads Top

ประวัติการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย


การสำรวจพบปิโตรเลียมครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ในปี พ.ศ.2461 เมื่อชาวบ้านฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบน้ำมันไหลซึมขึ้นมาบนพื้นดิน

ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินอธิบดีกรมรถไฟหลวง ได้ทรงว่าจ้าง...
นักสำรวจธรณีวิทยาชาวอเมริกันให้ค้นหาน้ำมันและถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ฟืนสำหรับรถจักรไอน้ำในกิจการรถไฟโดยได้สำรวจทุกภาคของประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2462 จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2466 ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ที่สำรวจพบน้ำมันดิบในชั้นทรายน้ำมันดิน (Tar Sand)แต่การเจาะสำรวจในขณะนั้นใช้อุปกรณ์เจาะสำรวจส่วนใหญ่เป็นไม้จึงเจาะได้ไม่ลึกมาก และการเดินทางขณะนั้นยังไม่มีถนนทางไป อ.ฝางดังนั้นบ่อน้ำมันดิบนั้นจึงไม่เหมาะแก่การลงทุนพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์

ในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหมได้จ้างนักธรณีวิทยาชาวสวิสมาสำรวจเพิ่มเติมในแอ่งฝางอีกครั้งหนึ่ง แต่การเจาะสำรวจก็ยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆ

ในปี พ.ศ. 2481 กรมทางหลวงแผ่นดินจึงเข้ามาสำรวจค้นหาทรายน้ำมันรอบๆบริเวณที่มีน้ำมันซึมขึ้นมา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำทรายน้ำมันมาใช้ในการก่อสร้างถนนแทนยางมะตอย แต่โครงการนี้ก็ล้มเลิกไป

ปี พ.ศ. 2491 กรมโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) จึงเข้าไปสำรวจที่แอ่งฝางอีกครั้ง โดยใช้วิธีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนเพื่อกำหนดตำแหน่งของหลุมเจาะทำให้สามารถผลิตน้ำมันได้วันละประมาณ 20 บาเรล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 พื้นที่นี้ก็ถูกโอนให้ไปอยู่ใต้การดำเนินงานของกระทรวงกลาโหมอีกครั้งหนึ่ง และสามารถทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 1,000 บาเรล

ที่มา : บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)

ขอบคุณภาพจาก : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ /ภาพล้านนาในอดีต

ปัจจุบันบ่อน้ำมันฝางตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินกิจการภายใต้กรมพลังงาน กระทรวงกลาโหม บ่อน้ำมันแห่งนี้ ค้นพบเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว เนื่องจากชาวบ้านพบน้ำมันลักษณะสีดำไหลซึมขึ้นมาบนผิวดินแต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไร บางคนคิดว่าเป็นน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จึงนำมาทาร่างกายเพื่อรักษาโรคต่างๆเมื่อความทราบถึงเจ้าหลวงเชียงใหม่จึงให้กันบ่อน้ำมันไว้เป็นของหลวงทำให้คนทั่วไปเรียกว่าบ่อหลวงหรือบ่อเจ้าหลวง

อ้างอิง : สำนักงานพลังงานแห่งชาติ. (2512). เชื้อเพลิงและพลังงานของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.