Ads Top

สงครามกลางเมืองกัมพูชา



กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ตามสัญญาเจนีวา 1954 ทันที่ทีได้เอกราช ต่อมา พ.ศ.2497 กษัตริย์สีหนุได้สละราชสมบัติให้พระบิดา และได้ลงมาจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น ชื่อพรรคสังคมนิยมราษฎรนิยม เป้าหมายคือเพื่อเป็นฐานอำนาจและรักษาบทบาททางการเมืองของตนเอง แม้สละบัลลังก์ แต่เจ้าสหนุ ยังคงมีบทบาทและอิทธิพลในหมู่ประชาชนกัมพูชาอย่างเหนียวแน่น
กระนั้นเส้นทางของเจ้าสีหนุก็ใช่ว่าจะราบเรียบ กลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกันอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ขณะนั้นมี 1.ฝ่ายทหารที่นิยมขวา หรือที่เรียกว่าขวาจัด ซึ่งมีนายพลลอน นอล (Lon Nol) และนายพลเจ้าสิริมาตะ เป็นแกนนำ 2.กลุ่มสนับสนุนซ้าย มีนายเขียว สัมพัน (Khieu Samphan) และนายเอียง สารี (Ieng Sary) เป็นแกนนำ

เจ้าสีหนุพยายามลดความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายลง โดยให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยที่เจ้าสีหนุจะเป็น ตัวถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจหรืออิทธิพลมากขึ้น เจ้าสีหนุก็จะหันไปสนับสนุนกับฝ่ายตรงข้ามทันทีเพื่อลดบทบาทของฝ่ายที่มีอำนาจลง
ความขัดแย้งก็เริ่มปะทุขึ้นเพราะทุกฝ่ายต้องการแต่อำนาจสิทธิ์ขาดของตน เมื่อฝ่ายขวาต้องการให้กัมพูชามีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และให้เจ้าสีหนุขับไล่กองกำลังเวียดกงและเวียดนามเหนือทางฝั่งตะวันออก ใกล้กับเวียดนามใต้ออกไป และต้องการให้เจ้าสีหนุแสดงท่าทีว่าเป็นปฏิปักษ์กับระบอบคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะจีนกับเวียดนามเหนือ นอกจากนี้ต้องการให้ไปมีสัมพันธไมตรีกับอเมริกาและไทย
ส่วนฝ่ายซ้ายต้องการให้โอนกิจการต่างๆ ทางเศรษฐกิจให้ตกเป็นของรัฐตามแนวทางสังคมนิยม และไม่ต่อต้านเวียดกง เวียดนามเหนือ และต้องการให้เจริญสัมพันธไมตรีกับโลกคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม
ทั้งซ้ายและขวาจะอยู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน ทั้งแนวทางและเป้าหมายโดยไม่กำหนดสี พ.ศ.2503 เจ้าสีหนุได้บริหารประเทศค่อนข้างเอียงไปทางฝ่ายซ้าย แต่กลับล้มเหลว แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้ เกิดความไม่พอใจของฝ่ายขวาเป็นอย่างมาก จึงแก้ปัญหานี้โดยปรับรัฐบาลใหม่ ให้ผู้นำฝ่ายขวาทั้ง ลอน นอล และ เจ้าสิริมาตะ เข้ามาคุมรัฐบาลอย่างเต็มที่ จากนั้นได้เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจไปสู่ทุนนิยม และเริ่มขับไล่เวียดกงและเวียดนามเหนือออกไป และได้โจมตีนโยบายของ นายเอียง สารี และ เขียว สัมพัน เขมรเข้มข้นอยู่ในระบบทุนนิยมอีก 10 ปี ในที่สุดเจ้าสีหนุก็ถูกฝ่ายขวาโค่นลงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2513 ขณะที่เจ้าสีหนุกำลังเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตและจีน เป็นการยุติบทบาทของเจ้าสีหนุลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อโค่นเจ้าสีหนุลง ฝ่ายขวากับซ้ายหันมาเผชิญหน้ากันเต็มที่ รัฐบาลของนายพลลอน นอล ได้ผนึกกำลังกับอเมริกาและเวียดนามใต้ ได้เข้ากวาดล้างเวียดกงและเวียดนามเหนือ ทำให้แผ่นดินกัมพูชากลายเป็นสนามรบกลางเมืองขึ้น
รัฐบาลของลอน นอล ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาและไทย ส่วนฝ่ายนายเอียง สารี ได้รับการสนับสนุนจากจีน เวียดนามเหนือ และฝ่ายคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงคอมมิวนิสต์เขมรแดง (Khmer Rouge) สลตสาร์ (Sloth Sar) หรือ พอล พต
เขียว สัมพัน และเอียง สารีได้เข้าโจมตีกองกำลังของรัฐบาลลอน นอล อย่างดุดัน จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์นี้คือ อเมริกา ที่มีปัญหาของตนเองในการพ่ายสงครามที่เวียดนามต้องการถอนกำลังของตนออกจากเวียดนาม จึงได้ยื่นมือเข้าช่วยรัฐบาลของนายพลลอน นอล เพื่อจะถอนทหารตนออกจากเวียดนาม เมื่ออเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนามตามสัญญาในปารีสเมื่อปี พ.ศ.2516 โอกาสของรัฐบาลลอน นอลก็ง่อนแง่นตามสถานการณ์นี้ไปด้วย
ในที่สุดกัมพูชาได้สถาปนารัฐบาลใหม่ขึ้นภายใต้กลุ่มขบวนการเขมรแดง ปรับแนวทางของประเทศเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ และเกิดการฆ่าล้างแผ่นดินอย่างโหดเหี้ยม

แต่ดังที่บ้านเราเป็นอยู่…เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัวในทางบริหาร-ความบรรลัยย่อมได้แก่บ้านเมืองเสมอ รัฐบาลเขมรแดงเองก็มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง โดยนายเฮง สัมริน ที่มีเวียดนามใต้หนุนหลัง ได้บุกโจมตีรัฐบาลเขมรแดงของ นายพอล พต เมื่อ 25 ธันวาคม 2521 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาปกครองกัมพูชาได้สำเร็จ เมื่อ 10 มกราคม 2522 ด้วยการสนับสนุนของเวียดนาม ทำให้แผ่นดินเต็มไปด้วยทหารเวียดนาม กว่า 150,000 คนที่คงกำลังไว้ในกัมพูชา
ฝ่ายรัฐบาลเขมรแดง (พอล พต) แม้ถูกโค่นอำนาจ แต่ยังประกาศว่าตนเองเป็นรัฐบาลอยู่ และได้รวบรวมกำลังขึ้น โดยมีกลุ่มของเจ้าสีหนุ กลุ่มของอดีตนายกซอนซานน์ และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้น ภายใต้ชื่อรัฐบาลผสมเขมรสามฝ่าย เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลของนายเฮง สัมริน ที่มีเวียดนามใต้หนุนหลังอยู่
ในยุคสมัยพอล พตผู้นำเขมรแดง นับแต่ปี พ.ศ. 2522 เรื่อยมา แผ่นดินมหามิตรของไทยเวลานี้เต็มไปด้วยสงครามกลางเมือง ระหว่างสารพัดฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ได้ต่อสู้ฆ่าล้างกันจนเลือดแดงทาทั่วผืนดินกัมพูชา ส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองก็มาจากต่างประเทศที่เข้าแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ไทย จีน เวียดนาม เป็นต้น
แต่ปัจจัยภายนอกเช่นกันที่จะทำให้สงครามในกัมพูชายุติลงได้ เพราะแค่พี่เบิ้มใหญ่ของแต่ละฝ่ายที่หนุนหลังอยู่ ยุติบทบาทสงครามในกัมพูชาก็หยุดเช่นกัน ผู้ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในการยุติการฆ่าล้างในกัมพูชาลงได้ โลกบันทึกไว้ชัดเจน 2 คน นายกาเรธ อีแวนส์ (Gareth Evans) รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเรีย และอีกท่านคือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ผู้มีแนวคิดเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า จากนั้นบทบาทของอาเซียนก็โดดเด่นขึ้น นายอาลี อาลาตัส รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ระหว่างกลุ่มผู้นำต่างๆ ในกัมพูชาที่เป็นปฏิปักษ์กัน และเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2534 สงครามในกัมพูชาได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ ตามสัญญาสันติภาพปารีส-เจ้านายเก่าซึ่งเคยขีดเส้นแบ่งแผ่นดินเขาพระวิหารอันจะแผลงฤทธิ์ขึ้นใหม่ในวันพรุ่งนี้ (11 พ.ย.56)
ภายใต้ข้อตกลงนี้ ให้กองกำลังทุกฝ่ายในกัมพูชาต้องยุติการสู้รบ ลดกำลังรบ และปลดอาวุธ โดยให้สภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชา เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด และทำหน้าที่ประสานงานกับองค์การบริหารของฝ่ายสหประชาชาติชั่วคราวหรืออันแทค เพื่อสถาปนาสันติภาพและจัดให้มีการเลือกตั้งในกัมพูชาต่อไป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 อันแทคได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในกัมพูชา โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองที่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 22 พรรค ปัญหาครั้งนี้คือชาวกัมพูชาไม่คุ้นชินกับการเลือกตั้ง-ชาวเขมรถูกชักจูงออกไปจากประชาธิปไตย และตัวเลขผู้มีสิทธิ์ไม่ชัดเจนภายใต้สงครามมาโดยตลอด การกระจายตัวของประชากร การมีภูมิลำเนาไม่เป็นหลักแหล่งถาวร ล้วนเป็นปัญหาครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนได้ 120 คน พรรคฟุนซินเปค (Funcinpec) ของเจ้านโรดมรณฤทธิ์ ได้ 58 ที่นั่ง พรรคประชาชนกัมพูชา ของนายฮุน เซน ได้ 51 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตยแนวพุทธ ของนายซอนซานน์ ได้ 10 ที่นั่ง พรรคโมลินาคา ของนายพรม นาคราช ได้ 1 ที่นั่ง
งานแรกของสภาชุดนี้คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแล้วเสร็จและประกาศใช้เมื่อ 21 กันยายน 2536 แม้ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถอดด้ามนี้ กำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่เพื่อลดความขัดแย้งจึงได้กำหนดบทเฉพาะกาลขึ้น ให้รัฐบาลชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีนายกรัฐมนตรี 2 คน โดยให้เจ้ารณฤทธิ์ เป็นนายกฯ คนที่ 1 นายฮุน เซน เป็นนายกฯ คนที่ 2 กระทรวงคือมหาดไทยและกลาโหม ให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงละ 2 คน จึงเป็นประชาธิปไตยแบบกัมพูชาโดยแท้
แม้มีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้งแล้ว การเมืองในกัมพูชาก็หาได้สงบลงไม่ ยังมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง จาก 2 พรรค และ 2 นายกฯ แย่งอำนาจการปกครองกันเอง โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือกลุ่มเขมรแดง
ในที่สุดความขัดแย้งดำเนินมาถึงขีดสุด 6 กรกฎาคม 2550 นายฮุน เซน นายกฯ คนที่ 2 ได้ยึดอำนาจนายกฯ คนที่หนึ่งคือเจ้ารณฤทธิ์ โดยอ้างเหตุผลว่าเจ้ารณฤทธิ์สะสมกำลังอาวุธอย่างผิดกฎหมายเพื่อยึดอำนาจปกครอง และสมคบกับกลุ่มนอกกฎหมายเขมรแดง
การสู้รบทางทหารกลับเข้าสู่แผ่นดินกัมพูชาอีกครั้ง นำไปสู่การยื่นมือเข้ามาจากต่างชาติเช่นกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น อเมริกา รวมไปถึงสหประชาชาติ ได้กดดันบีบบังคับผ่านระบบเศรษฐกิจและการเมืองให้ยุติความขัดแย้งนี้เสีย ในที่สุดก็นำมาสู่การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ขึ้นในกัมพูชา

รัฐบาลใหม่มี นายฮุน เซน เป็นนายกฯ เจ้ารณฤทธิ์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเจีย ซิม จากพรรคประชาชนกัมพูชา เป็นประธานวุฒิสภา

สาเหตุของสงครามกัมพูชา
สาเหตุของสงครามกัมพูชายังมีหลากหลายสาเหตุ ที่ผสมผสานกันเข้าจนทำให้เกิดสงครามขั้นล้างชีวิตกันแทบสิ้นชาติ
1.ปัญหาความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ ระหว่างกัมพูชาและเวียดนามซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
2.ความขัดแย้งในแนวชายแดนระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม ในบริเวณที่เรียกว่าดินแดนจงอยปากนกแก้ว (Parrot‘s Beak) ซึ่งกัมพูชาอ้างเสมอว่าเวียดนามได้บุกรุกเข้ามาตลอดเวลา ความขัดแย้งนี้ทำให้เขมรแดงยิงปืนใหญ่เข้าไปในเขตเศรษฐกิจใหม่ของเวียดนาม จนกลายเป็นความขัดแย้งและตอบโต้กันด้วยความรุนแรง ทำให้เวียดนามต้องส่งทหารเข้ามาในกัมพูชา
3.นโยบายรัฐบาลเขมรแดงที่ทำรุนแรงกับคนกัมพูชา (จนเกิดกรณีทุ่งสังหาร) ในปี 1977 ทำให้ผู้นำที่อยู่ในเขมรแดงด้วยกันไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเฮง สัมริน และฮุน เซน ทั้ง 2 คนจึงหนีออกนอกประเทศ และไปเชิญให้เวียดนามเข้ามาบุกยึดกัมพูชา และทั้ง 2 คนก็กลายเป็นรัฐบาลหุ่นของเวียดนามในกัมพูชา
4.การสนับสนุนของสหภาพโซเวียตผ่านเวียดนาม

ความขัดแย้ง 3 ระดับ
1.เป็นสงครามกลางเมืองที่คนในชาติเดียวกันจับอาวุธเข้าทำสงครามกัน แบ่งออกเป็น
-ฝ่ายรัฐบาลฮุน เซน และเฮง สัมริน ที่เวียดนามแต่งตั้งขึ้น
-ฝ่ายต่อต้านฮุน เซน คือเขมร 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยเขมรแดง ฝ่ายเจ้านโรดมสีหนุ (ฟุนซินเปก) และฝ่ายซอนซาน
2.เป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มรัฐที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน คือระหว่างกลุ่มรัฐในอินโดจีน และกลุ่มรัฐในอาเซียน ในอาเซียนนั้นมีไทยเป็นผู้ประสานงานให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหากัมพูชา เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้มากที่สุด และอาเซียนเป็นผู้สนับสนุนเขมร 3 ฝ่าย และต่อต้านเวียดนามและฝ่ายเฮงสัมรินและฮุน เซน
3.ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจของโลก 2 ประเทศคือ จีนและสหภาพโซเวียต ทำให้สงครามกัมพูชาเป็นสงครามตัวแทนของจีนและโซเวียตด้วย โดยโซเวียตหนุนหลังเวียดนามและรัฐบาลฮุน เซน ส่วนจีนสนับสนุนเขมร 3 ฝ่าย
ทั้งนี้ สหประชาชาติให้การยอมรับว่ารัฐบาลเขมรแดงและเขมร 3 ฝ่ายเป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง ส่วนรัฐบาลฮุน เซนที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากเวทีนานาชาติ ยกเว้นสหภาพโซเวียต ทำให้การเมืองระดับโลกเข้ามีส่วนในครั้งนี้ด้วย

การแก้ไขปัญหากัมพูชา
เมื่อโซเวียตยุติการช่วยเหลือเวียดนาม ทำให้เวียดนามอยู่ในกัมพูชาต่อไปไม่ได้ และต้องถอนกำลังทหารออกมา และในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2534 มีการลงนามในสัญญาสันติภาพปารีส ยุติความขัดแย้งในกัมพูชา และกำหนดให้คนกัมพูชากำหนดชะตาวิถีชีวิตตนเองแบบประชาธิปไตย…ดังที่เรารู้เห็นอยู่
ชะตากรรมของเขมรจะเป็นเช่นไร หาใช่สิ่งที่เราชาวไทยจะดูดายได้ไม่ สายโซ่ความสัมพันธ์ทั้งการทูต การเศรษฐกิจอีกมากที่ยังไม่มีการเผยตัวในที่แจ้ง ล้วนผูกติดความสัมพันธ์จนอาจกลืนรวมกันเข้าเป็นแผ่นดินเดียวเข้าสักวัน…ศึกษาเขมรเพิ่มอีกทีในวันนี้ไม่น่าเสียเวลาเปล่า!!

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.