Ads Top

อดีตกองกำลังก๊กมินตั๋งในไทย

มีเรื่องเก่าๆ ที่ซ่อนอยู่บนหลังดอยแม่สะลอง ดอยตุง และชายแดนไทย - เมียนมาร์ ทางภาคเหนือครับ ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นชาวไทยไปแล้ว แต่แลกด้วยหยดเลือด และน้ำตามาเป็นเวลานานปี
ในปี พ.ศ.2492 กองทัพก๊กมินตั๋งของจอมพลเจียงไคเช็ค ถูกกองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดยเหมาเจ๋อตุง ตีถอยร่นจนตกทะเล จอมพลเจียงไคเช็คกำหนดให้กองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 13 ซึ่งอยู่ในมณฑลยูนนาน สกัดถ่วงเวลากองทัพปลดแอกไว้ เพื่อจะได้มีเวลาลำเลียงทหารที่เหลือข้ามไปเกาะไต้หวัน
กองทัพทั้งสองพยายามยันกองทัพแดงแต่ก็ยันไม่อยู่ ต้องถอยร่นไปรวมกันที่เมืองเม่งสือ แล้วขอให้ทางไต้หวันส่งเครื่องบินมารับ แต่ขนทหารอยู่ได้เพียง 4 วันกองทัพแดงก็ยึดสนามบินได้ ทหารที่เหลือของกองทัพทั้งสองถูกตีถอยร่นจนแตกออกเป็น 4 ส่วน ส่วนหนึ่งราว 5,000 คนได้ถอยเข้าไปในเวียดนามและลาว จึงถูกฝรั่งเศสซึ่งยังครองอินโดจีนอยู่ในตอนนั้นปลดอาวุธ แล้วลำเลียงไปไว้ที่เกาะพูค็อคของญวน ต่อมาก็ลำเลียงกลับไปไต้หวันทั้งหมดในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2496
อีกส่วนหนึ่งราว 1,700 คน มีนายพลหลีหมี่ เป็นผู้นำทัพ ได้ถอยมาทางรัฐฉาน เชียงตุง และมาตั้งกองบัญชาการที่ท่าขี้เหล็ก ฝั่งพม่า ทหารส่วนนี้เป็นทหารกองพล 93 ของกองทัพที่ 8
ทางการพม่าถือว่าทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ละเมิดอธิปไตย ทั้งยังอาจทำให้กระทบกระเทือนสัมพันธไมตรีระหว่างพม่ากับจีนคอมมิวนิสต์ จึงขอให้วางอาวุธ หรือถอนกำลังออกไปจากดินแดนพม่า แต่นายพลหลีมี่ปฏิเสธทั้ง 2 ข้อ ทั้งแถลงว่า ถ้าพม่าโจมตีเมื่อใดก็จะตอบโต้ทันที พม่าจึงส่งกำลังเข้าขับไล่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2493 และยึดท่าขี้เหล็กไว้ได้ นายพลหลีมี่พาทหารถอยไปที่เมืองสาด ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกราว 60 กม. ตั้งฐานใหม่ขึ้นที่นั่น แต่พม่าก็ไม่ได้ตามไปตีอีก เพราะติดพันกับการปราบปรามชนกลุ่มน้อย
ในช่วงนี้มีรายงานว่า ซีไอเอ.ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรับบาลพม่ารายงานว่า มีเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติบินมาทิ้งร่มส่งสัมภาระให้ทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ทุกสัปดาห์
เมื่อได้อาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น นายพลหลีมี่ก็ขยายกองกำลังเพิ่มขึ้นถึง 4,000 คน โดยเกณฑ์ไทยใหญ่และชาวพื้นเมือง ตลอดจนรวบรวมทหารก๊กมินตั๋งที่ตกค้างในย่านนั้นเข้าสมทบ มีครูฝึกที่ส่งมาจากไต้หวัน และสร้างฐานฝึกขึ้นที่ใกล้เมืองสาด
ต่อมาขยายฐานไปตั้งอีก 2 แห่งที่เมืองเมาและเมืองยางในรัฐว้า ใกล้กับชายแดนจีน โดยยังมีเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติมาส่งอาวุธให้เป็นประจำ
ในเดือนเมษายน พ.ศ.2494 นายพลหลีมี่ได้นำทหารจากเมืองเมา 2,000 คนบุกเข้าไปในยูนนาน หวังจะยึดคืนจากกองทัพปลดแอก แต่ถูกตีถอยร่นบอบช้ำอย่างหนักกลับมา
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ก็นำทหารจากฐานเมืองยางรุกเข้าไปอีก ผลก็ย่อยยับกลับมาเหมือนเดิม
นายพลหลีมี่ยังไม่สิ้นความพยายาม ได้สร้างสนามบินขึ้นที่เมืองสาด ใหญ่ขนาดเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ลงได้ และบินไปไต้หวัน ขนทหารกลับมาอีก 700 คนพร้อมอาวุธ จนขยายกองกำลังได้ถึง 12,000 คน
ในเดือนสิงหาคม นายพลหลีมี่บุกยูนนานอีกครั้ง ครั้งนี้รุกเข้าไปได้ถึง 100 กม.จากชายแดนพม่า แต่สุดท้ายก็ถูกตีถอยกลับมาอีก
การเข้าโจมตียูนนาน นายพลหลีมี่มีความหวังว่า เมื่อทหารจีนคณะชาติยกเข้าไปแล้ว ประชาชนจะลุกฮือขึ้นขับไล่กองทัพแดงด้วย แต่จากปฏิบัติการทั้ง สามครั้ง เห็นว่าประชาชนไม่ได้ให้ความร่วมมือกับกองทัพก๊กมินตั๋งเลย ทำให้หมดกำลังใจและหมดความหวังที่จะยึดมณฑลยูนนานได้
เมื่อความหวังที่จะกลับเข้าไปมีอำนาจในแผ่นดินใหญ่สูญสลาย ทหารก๊กมินตั๋งจึงยุบฐานปฏิบัติการใกล้ชายแดนจีนลง หันมากระจายกำลังเข้าครอบครองรัฐฉานของพม่าให้ได้มากที่สุด ดำเนินการเก็บภาษีจากประชาชนในท้องถิ่น เกณฑ์แรงงานราษฎรตามใจชอบ ขณะเดียวกันก็เข้าควบคุมธุรกิจการค้าฝิ่น ทั้งยังให้การสนับสนุนกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ในการสู้รบกับพม่า เพื่อหวังจะเป็นพันธมิตร และมีอิทธิพลเหนือกองกำลังติดอาวุธต่างๆในย่านนี้
รัฐบาลพม่าเห็นว่ากองกำลังก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ขยายอิทธิพลมากขึ้นทุกที ปล่อยต่อไปไม่ได้แล้ว จึงลงมือปราบปรามอีกครั้ง พร้อมกับยื่นบันทึกต่อสหประชาชาติเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2496 ทำให้รัฐบาลจีนคณะชาติที่ไต้หวันไม่พอใจ
นสพ.ไชน่านิวส์ของไต้หวัน ฉบับวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2496 ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า
“การกระทำของรัฐบาลพม่าที่เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในองค์การสหประชาชาติ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือและเปิดทางสะดวกต่อศัตรู ทั้งยังเป็นการโจมตีรัฐบาลจีนคณะชาติ ตลอดจนเป็นการกลั่นแกล้งโลกเสรีด้วย”
ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ลงมติในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2496 ตำหนิการเข้ามาอยู่และปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่าของทหารก๊กมินตั๋ง ยืนยันว่าทหารเหล่านี้ต้องถูกปลดอาวุธและต้องออกจากพม่าในทันที หรือไม่ก็ต้องจำกัดเขต อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งยังขอร้องประเทศต่างๆ อย่าให้ความช่วยเหลือแก่ทหารกลุ่มนี้

นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติของที่ประชุม องค์การสหประชาชาติได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนสหรัฐอเมริกา ไทย จีนคณะชาติ และพม่า เปิดประชุมกันที่กรุงเทพฯ แต่จีนคณะชาติถ่วงเวลาโดยไม่ให้ความร่วมมือ จนผู้แทนพม่าได้ประกาศในที่ประชุมว่า
“ถ้ากองทหารของจีนคณะชาติในพม่าไม่ถอนตัวออกไปตามมติของสหประชาชาติ กองทหารพม่าก็จะทำการสู้รบจนกว่าเขาหรือเรา จะตายลงข้างหนึ่ง”
ในที่สุดก็ตกลงกันได้ มีการขนทหารก๊กมินตั๋งผ่านไทยไปไต้หวันในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2496 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2497 รวม 4 ครั้ง จำนวน 7,784 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนชรา และคนป่วย ทั้งยังมีรายงานว่า ผู้อพยพกลุ่มนี้มีไทยใหญ่และมูเซอร์ปลอมแปลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก
แต่ยังมีทหารก๊กมินตั๋งอีกราว 5,000 - 6,000 คน ซึ่งรัฐบาลพม่าเชื่อว่ามีถึง 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มวัยฉกรรจ์ ไม่ยอมกลับไปไต้หวัน ยังหลบซ่อนอยู่ในดินแดนพม่า และไม่ยอมให้ปลดอาวุธ รัฐบาลจีนคณะชาติประกาศไม่ยอมรับรู้กับทหารพวกที่ไม่ยอมกลับนี้อีกต่อไป แต่ความจริงยังแอบให้การสนับสนุนอย่างลับๆ โดยผ่านทางสถานทูตจีนคณะชาติในประเทศไทย
ทางการพม่าจึงต้องลงมือปราบปรามอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ.2497 โดยถล่มระเบิดใส่เมืองสาดเป็นเวลา 2 วัน แล้วส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้ายึดกองบัญชาการที่แข็งแกร่งของก๊กมินตั๋งแห่งนี้ไว้ได้ นายพลหลีมี่นำทหารราว 2,000 คนถอยหนีลงใต้มุ่งสู่เขตไทย
ในที่สุด ก็เปิดการเจรจากันที่กรุงเทพฯอีกครั้ง นายพลหลีมี่ประกาศยุบกองทหารก๊กมินตั๋งที่ตกค้างอยู่ในดินแดนพม่า มีการขนกลับทางเครื่องบินอีก 4,500 คน รวมทั้งตัวนายพลหลีมี่เองด้วย
ครั้งนี้น่าจะเป็นการปิดฉากกองพล 93 ที่ตกค้างลงได้ แต่ก็ยังมีทหารก๊กมินตั๋งบางส่วนไม่ยอมกลับ หลบซ่อนอยู่ในรัฐฉาน
ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498 นสพ.พม่าฉบับหนึ่งรายงานว่า มีการลักลอบนำทหารจีนคณะชาติจำนวน 600 คนเข้ามาในรัฐฉาน พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการคนใหม่แทนนายพลหลีมี่ด้วย และตั้งกองบัญชาการแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองป่าเลี่ยว ในรัฐฉาน
ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2403 ทหารพม่า 5,000 คน รวมกับทหารจีนคอมมิวนิสต์ 20,000 คน กวาดล้างทหารก๊กมินตั๋งตกค้างอย่างหนักอีกครั้ง ทหารก๊กมินตั๋งที่แยกกันยึดเมืองยู้ เมืองแฮะ และเมืองสามเต๊าในรัฐฉานตอนใต้ ถูกตีถอยร่นไปรวมกันที่เมืองป่าเลี่ยว
ต่อมาในเดือนธันวาคม ฐานใหญ่ที่เมืองป่าเลี่ยวก็แตก ทหารก๊กมินตั๋งส่วนใหญ่เกือบ 10,000 คนต้องหนีตายข้ามโขงไปสู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาว ลี้ภัยอยู่ในเมืองน้ำทา ฝ่ายปราบปรามยึดกระสุนปืนที่คลังแสงเมืองป่าเลี่ยวได้หนักถึง 5 ตัน มีหลักฐานว่าผลิตในอเมริกาทั้งหมด
และในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เครื่องบินพม่าก็ยิงเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติลำหนึ่งตก ขณะกำลังส่งสัมภาระให้ทหารก๊กมินตั๋งที่ล่าถอย เป็นเครื่องบินผลิตในอเมริกาอีกเช่นกัน
ทั้งสองเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลอเมริกันเสียหน้า จึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือรับขนส่งทหารก๊กมินตั๋งที่ตกค้างไปไต้หวัน ทหารก๊กมินตั๋งอีกชุด จำนวน 4,349 คนจึงเดินทางจากลาวข้ามโขงมาขึ้นเครื่องบินที่เชียงราย ลำเลียงไปไต้หวันอีกหลายเที่ยว จนเที่ยวสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2504 ถือว่าเป็นการปิดฉากการลำเลียงทหารก๊กมินตั๋งตกค้างไปไต้หวัน
แม้จะมีการลำเลียงทหารก๊กมินตั๋งจากเที่ยวแรกจนถึงเที่ยวสุดท้ายเป็นจำนวนกว่า 16,000 คนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่หมดเชื้ออยู่ดี เหล่าก๊กมินตั๋งอีกราว 4,000 คน เป็นทหาร 2,600 คน ครอบครัวอีก 1,350 คน ไม่สมัครใจไปไต้หวัน ขอลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนอีก 1,700 คนยังอยู่ในลาว
เป็นที่เปิดเผยว่า ซีไอเอ.ได้ว่าจ้างทหารก๊กมินตั๋งในลาวส่วนนี้ให้ช่วยกองทัพบกลาวฝ่ายขวา โดยตั้งเป็น “กองพันพิเศษ ที่ 111” อยู่ในบังคับบัญชาของนายพลภูมี หน่อสวรรค์ ประจำอยู่ที่เมืองน้ำทา จนในปี พ.ศ.2505 เมื่อลาวฝ่ายขวาล่มสลาย ทหารส่วนนี้จึงข้ามมาสมทบกับพวกที่อยู่ในเมืองไทย
ในที่สุด ทหารก๊กมินตั๋งที่ตกค้าง ได้แยกตัวออกเป็น 3 กลุ่ม ตามเหตุผลของแต่ละกลุ่ม
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มของนายพลต้วน ซี เหวิน อยู่ที่ อ.แม่สาย และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย มีราว 1,500 คน
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มของ นายพลหลี่ เหวิน ฮ้วน กระจายกันอยู่ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อ.เทิง และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีราว 1,000 คน
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มของ นายพลหม่า จุ่ง กว๊ะ แยกตัวออกไปตั้งหน่วยที่มีชื่อว่า “คอลัมน์อิสระ” หลบซ่อนอยู่ในรัฐฉาน มีกำลังพลเพียง 400 - 500 คนขึ้นตรงกับ เจียง จิง กัว บุตรชายของจอมพลเจียงไคเช็ค เป็นกลุ่มเดียวที่ยังได้รับการสนับสนุนจากทางไต้หวัน เพื่อให้คอยสืบหาข่าวในพม่าและจีนต่อไป
แม้จะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวกก็ตาม แต่ทหารก๊กมินตั๋งที่ยังถืออาวุธแต่ไม่มีเงินเดือนยังชีพเหล่านี้ ได้ออกข่มเหงราษฎรไทยโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย นายพลต้วนจึงคิดจะรวบรวมคนเหล่านี้ให้มาอยู่ในระเบียบวินัยมากขึ้น โดยเรียกคนในกลุ่มของตนมารายงานตัว ตั้งเป็นกองทัพที่ 5 ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ดอยแม่สลอง ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย และแจ้งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายรับทราบว่า จะจัดการกับคนเหล่านี้ให้มาอยู่ในบังคับบัญชา ไม่ออกไปสร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรไทยอีก อันจะเป็นเหตุให้รัฐบาลไทยปราบปรามและส่งผลกระทบมาถึงตนด้วย
ส่วนนายพลหลี่ ก็ตั้งกลุ่มของตนขึ้นเป็นกองทัพที่ 3 ตั้งกองบัญชาการขึ้นที่บ้านถ้ำง้อบ ต.ปงตำ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
ด้วยเหตุที่สองนายพลถูกตัดขาดจากทางไต้หวัน จึงหันเข้าหาธุรกิจการค้าฝิ่น
เมื่อหมดฤดูฝน สถานีเหล่านี้จะรายงานจำนวนฝิ่นที่ตนรวบรวมได้ในเขตของตนส่งมายังกองบัญชาการ เพื่อที่จะได้วางแผนจัดกองคาราวานขึ้นไปรับ
ด้วยวิธีการนี้ สองนายพลก๊กมินตั๋งแห่งดอยแม่สลองและถ้ำง้อบ จึงเป็นราชาครอบครองอาณาจักรแม่ทองดำที่กว้างขวางถึง 153,600 ตารางกิโลเมตร ควบคุมผลผลิตฝิ่นถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดในดินแดนที่โลกให้ฉายาว่า “สามเหลี่ยมทองคำ”
กองคาราวานกองหนึ่งๆ ของก๊กมินตั๋งจะใช้ฬ่อ 400 - 600 ตัว โดยมีชาวเขาจากภาคเหนือของไทยควบคุมฬ่อ ฬ่อตัวหนึ่งๆ จะบรรทุกฝิ่นได้ถึง 50 กก. ส่วนทหารก๊กมินตั๋งจะควบคุมกองคาราวานด้วยอาวุธปืนที่ร้ายแรง ตั้งแต่คาร์ไบน์กึ่งอัตโนมัติ ไรเฟิล 75 มม. ปืนกล 50 มม. จนถึงปืนครก 60 มม. ทั้งยังมีวิทยุติดตัว ขอกำลังจากสถานีวิทยุที่อยู่ใกล้มาช่วยได้ถ้าถูกโจมตี ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีกองกำลังติดอาวุธของพวกกู้ชาติรัฐฉาน หรือแม้แต่ทหารพม่า กล้าไปตอแยกับกองคาราวานก๊กมินตั๋ง
กลุ่มของนายพลหม่า จุ่ง กว๊ะ เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ต้องหากินกับฝิ่น เพราะมีเงินจากไต้หวันส่งมาเลี้ยง ทั้งยังเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไต้หวันเพียงคนเดียวที่ประจำอยู่ในย่านนี้ ซึ่งนายพลต้วนและนายพลหลี่ต่างก็ให้ความนับถือ อีกทั้งยังสามารถช่วยประสานสามัคคีเมื่อนายพลฝิ่นทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องธุรกิจ
เพื่อตอบแทนรัฐบาลไทยที่ให้ที่พักพิงอาศัย กองทัพที่ 3 และที่ 5 จึงรับหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์ทางประตูด้านเหนือของไทย คอยสอดส่องดูแลการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2510 ที่เกิด “กบฏแม้วแดง” ขึ้นที่จังหวัดน่าน รัฐบาลไทยพยายามปราบปรามอย่างรุนแรงโดยใช้ระเบิดนาปาล์มถล่มลงในหมู่บ้านที่เลือกแล้ว แต่กลับทำให้กองโจรเหล่านี้ขยายตัวยิ่งขึ้น ฝ่ายเสนาธิการเห็นว่าต้องบุกทางภาคพื้นดินจึงจะกวาดล้างกองโจรที่หลบซ่อนอยู่ตามภูเขาได้ แต่ทหารไทยก็ไม่ชำนาญการทำสงครามบนภูเขา พยายามยุให้ชาวเขารบกันเองก็ไม่สำเร็จ จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือจากทหารก๊กมินตั๋ง
นายพลต้วนได้เกณฑ์อีก้อ มูเซอร์ และลีซอจากภาคตะวันตกของเชียงราย ส่งเข้าไปรบกับแม้วแดงในเดือนธันวาคม พ.ศ.2512 และส่งทหารกองทัพที่ 5 ซึ่งพูดภาษาท้องถิ่นได้หลายภาษาอีก 500 คนเข้าโจมตีทางเชียงของ นายพลหลี่ส่งทหารกองทัพที่ 3 เข้าไปทางเชียงคำ จนกระทั่งปราบกบฏแม้วแดงได้ราบคาบ
อย่างไรก็ตาม แม้สองนายพลก๊กมินตั๋งจะพยายามสร้างภาพว่าเป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ เสนอตัวต่อทางการไทยว่ากองกำลังของตนพร้อมจะต่อต้านจีนแดงทุกเมื่อ ขอเป็นด่านแรกที่จะสกัดกั้นถ้าคอมมิวนิสต์จีนจะรุกเข้ามาทางเหนือ ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นกองกำลังในชื่อว่า “กองทหารอาสาสมัครต่อต้านคอมมิวนิสต์ของเสรีชน” เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 โดยมีนายพลต้วนเป็นผู้บัญชาการ มีกองบัญชาการอยู่ที่ดอยแม่สลอง แต่เป้าหมายอันแท้จริงของนายพลทั้งสองก็ยังอยู่ที่ธุรกิจฝิ่นเพื่อความอยู่รอด และสร้างความร่ำรวยให้อย่างมหาศาล
ในราวกลางปี พ.ศ.2514 ซีไอเอ.รายงานว่า ดอยแม่สลอง กองบัญชาการของกองทัพที่ 5 เป็นแหล่งของโรงกลั่นเฮโรอีนที่สำคัญที่สุดในสามเหลี่ยมทองคำ และในเดือนเมษายน พ.ศ.2515 ข่าว เอ็นบีซี.รายงานว่ามีโรงกลั่นเฮโรอีนที่ถ้ำง้อบ อันเป็นกองบัญชาการของกองทัพที่ 3 นอกจากนี้กองกำลังกู้ชาติของรัฐฉานยังยืนยันว่า กองคาราวานก๊กมินตั๋งยังคงขนฝิ่นและเก็บภาษีฝิ่นอยู่เช่นเดิม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาที่จะให้นายพลทั้งสองเดินทางไปอยู่ไต้หวัน แต่ได้รับการปฏิเสธจากทั้งสองคน โดยเฉพาะนายพลหลี่ยืนยันอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่ไปไต้หวัน อ้างว่าตัวเองและพรรคพวกไม่ใช่ทหารของกองพล 93 แต่เป็นชาวไร่ชาวนาที่เป็นอาสาสมัครในท้องถิ่น ได้อพยพหนีคอมมิวนิสต์มา และถูกนายพลหลีมี่ชวนกลับไปตียูนนาน ทั้งตัวเองก็เคยขัดนโยบายไต้หวัน เกรงว่าถ้าไปจะถูกลงโทษ อีกทั้งกลุ่มของตนก็ไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในไต้หวัน
รัฐบาลไทยได้พิจารณาหาทางที่จะดำเนินการกับกองทัพที่ 3 และที่ 5 ด้วยความเห็นใจที่ได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์มานาน ทั้งในบริเวณที่กองกำลังทั้งสองตั้งอยู่ ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้
กองบัญชาการทหารสูงสุดได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่า นายพลต้วนและนายพลหลี่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเกือบ 20 ปีแล้ว มีความตั้งใจตลอดที่จะต่อต้านคอมมิวนิสต์ อีกทั้งบรรดาลูกหลานที่เกิดในเมืองไทยก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว ทางราชการสมควรจะพิจารณาให้คนเหล่านี้ได้เป็นคนไทย ให้ที่อยู่ที่ทำกินในพื้นที่ที่มีการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ก็น่าจะใช้ประโยชน์ให้คนเหล่านี้เป็นราษฎรอาสาสมัครป้องกันคอมมิวนิสต์ได้
ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2513 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกองบัญชาการทหารสูงสุดผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมควรให้กองทหารจีนคณะชาติ กองทัพที่ 3 และที่ 5 ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อไปในฐานะผู้อพยพ โดยให้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน แต่ให้ชายฉกรรจ์ส่วนหนึ่งประมาณ 200 - 300 คนไปอยู่ที่ดอยหลวง จ.เชียงราย
อีกส่วนหนึ่งประมาณ 300 - 500 คนไปอยู่บริเวณดอยผาหม่น จ.เชียงราย เช่นกัน จัดเตรียมที่อยู่และที่ทำกินให้มีความปลอดภัยพอสมควรแล้ว จึงให้ครอบครัวอพยพตามไปภายหลัง
พื้นที่ดังกล่าวนี้มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยครอบครองอยู่แล้ว การย้ายเข้าสู่ที่อาศัยแห่งใหม่ของทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ จึงต้องเข้าจู่โจมฐานที่มั่นของ พคท.ก่อน โดยมี ตชด.ไทยสนับสนุน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2513 เป็นต้นไป จนสามารถกวาดล้างฐานปฏิบัติการใหญ่บ้านพญาพิทักษ์ บนสันดอยยาว และฐานดอยม่อนเลียบ ก่อนที่จะมุ่งสู่ดอยผาหม่น อันเป็นสำนักงานใหญ่ระดับเขตของ พคท. เป็นฐานของหน่วยรบที่ได้รับการยกย่องว่าเข้มแข็งที่สุด มีการปะทะกันอย่างหนัก จนถึงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2514 จึงยึดบริเวณเป้าหมายได้ทั้งหมด
ทหารก๊กมินตั๋งเสียชีวิต 15 คน บาดเจ็บ 45 คน ตชด.บาดเจ็บ 3 คน และคนนำทางเผ่าเย้าเสียชีวิต 1 คน
ในที่สุด สองนายพลก๊กมินตั๋งตกค้างที่ไม่ยอมไปอยู่ไต้หวัน และมีการเจรจายืดเยื้อมาเกือบ 20 ปี จนมีลูกหลานเกิดบนผืนแผ่นดินไทย เหมือนงอกรากออกยึดแผ่นดิน ก็ได้รับสัญชาติไทยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อแลกกับสัญญาข้อใหม่ที่เป็นสัญญาสุภาพบุรุษกับรัฐบาลไทย ว่าจะไม่ทำการค้าและลำเลียงฝิ่นอีกต่อไป โดยนายพลทั้งสองได้มอบฝิ่นดิบที่ยังตกค้างอยู่ในครอบครองถึง 40 ตันให้รัฐบาลไทยเผาทำลาย โดยเป็นของนายพลหลี่ถึง 32 ตัน และเป็นของนายพลต้วน 8 ตัน ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้มอบเงินเป็นค่าตอบแทนให้ 250 เหรียญต่อหนึ่งกิโลกรัม
นายพลต้วน ซี เหวิน มีชื่อใหม่เป็นไทยว่า นายชวาลย์ คำลือ และมีรหัสที่ใช้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ว่า “คุณสุนทร” นายพลหลี่ เหวิน ฮ้วน มีชื่อไทยว่า นายชัย ชัยศิริ มีรหัสว่า “คุณอารี”
จากนั้นดอยแม่สลองซึ่งเป็นสถานที่ลึกลับ ต้องห้ามสำหรับบุคคลภายนอก ชาวบ้านไม่กล้า กล้ำกรายเข้าไป เรียกกันว่า “กองพล 93” ก็เปิดประตูต้อนรับอาคันตุกะ และมีชื่อใหม่ว่า “หมู่บ้านสันติคีรี” มีโรงแรมในชื่อ “ชินแช” เปิดขึ้นกลางหมู่บ้านเป็นแห่งแรก มีห้องพักเพียง 8 ห้อง ค่าห้องคืนละ 30 บาท เริ่มมีนักท่องเที่ยวที่อยากรู้อยากเห็นไปเยือน
ต่อมาก็มีการจัดนำเที่ยวธรรมชาติแบบเดินป่า “แม่สลองรีสอร์ท” เปิดตามมาเพื่อหารายได้ช่วยทหารผ่านศึกพิการ
ต่อมาก็มี “แม่สลองวิลล่า” รวมทั้ง “คุ้มนายพลรีสอร์ท” ของลูกนายพลต้วน มีภัตตาคารอาหารยูนนานที่มีรสชาติเผ็ดแบบไทย ซึ่ง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ อุตส่าห์แบกป้าย “เชลล์ชวนชิม” ขึ้นไปมอบให้เมื่อไปติดใจขาหมูหมั่นโถและไก่ดำตุ๋นยาจีน
ส่วนถ้ำง้อบก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และชมซากุระหรือนางพญาเสือโคร่งบานเช่นเดียวกับดอยแม่สลอง โดยมี ภรณี ชัยศิริ ลูกสาวคนโตนายพลหลี่ อนุรักษ์สภาพเดิมของกองบัญชาการที่ 3 ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และเปิด“โรงเตี๊ยมถ้ำง้อบ” ให้เป็นที่พัก รวมทั้งมีร้านอาหารยูนนานด้วยส่วนสมรภูมิเลือดดอยผาหม่น ได้กลายเป็นแหล่งปลูกทิวลิปที่ขึ้นชื่อ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเช่นกัน
ชื่อเสียงอันน่ากลัวซึ่งคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นฝิ่นและควันปืนที่ฐานบัญชาการของกองพล 93 ได้จางหายไปพร้อมกับลมหายใจของทหารกล้าที่รบกันคอมมิวนิสต์ทั้งในและนอกประเทศมาอย่างโชกโชน เหลือแต่ลูกหลานที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย เป็นโฉมหน้าใหม่ของดอยแม่สลองและถ้ำง้อบในวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.